หัวข้อนี้ ถือเป็นเรื่องที่ผมต้องคิดแล้วคิดอีก กว่าจะพิมพ์ออกมาได้ ไม่ใช่เพราะความยากง่ายในการพิมพ์เรื่องราวมาบอกกล่าว แต่มันยากตรงที่ว่า ผมจะพิมพ์ยังไงไม่ให้ผมเล่าอะไรได้มากเกินกว่าที่ผมรู้ตอนนี้
จุดมุ่งหมายหนึ่งของการบวชสำหรับ คือการไปทำความเข้าใจเรื่อง "กรรมฐาน" ว่ามันมีอะไรมากกว่าการทำสมาธิหรือเปล่า หรือเป็นแค่การพิจารณาด้วยปัญญาของตัวเอง ก็ สามารถรู้ถึงคำว่า "กรรมฐาน" ได้แล้ว
ระยะเวลาไม่กี่วันในชีวิตพระสงฆ์ ในที่สุดผมก็ได้เริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่อง "กรรมฐาน" ในแบบฉบับ "รู้เอง เข้าใจเอง" เอาในวันที่สี่ แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่สิ่งที่ได้รับคือการเข้าใจถึง แนวคิดเรื่องจิต และเปิดมุมมองเรื่องจิตใจมนุษย์ให้กับผมได้มากมายมหาศาล
เปรียบเทียบง่ายๆ คงเหมือนเด็กแม่โต๋ ที่ได้เห็นทะเลครั้งแรกในชีวิตประมาณนั้น มันน่าตื่นเต้น น่าจดจำ และเป็นประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะตัวของเราเองจริงๆ
ถ้าพูดตามหลักความรู้ทั่วไป "กรรมฐาน" แบ่งแบบกว้างๆ ได้สองระดับ ระดับแรกคือ สมถะกรรมฐาน อีกระดับคือ วิปัสนากรรมฐาน
สมถะกรรมฐาน คือการกำหนดจิตให้นิ่งเป็นอารมณ์เดียว เป็นการประคองจิตข้างในให้อยู่ในสภาพนิ่งสงบ ตัดจากการกระตุ้นของปัจจัยต่างๆ เพื่อให้จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ส่วน วิปัสนากรรมฐาน คือการใช้จิตที่สงบนิ่งดีแล้ว มาพิจารณาสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญญา เป็นการฝึกเพื่อพัฒนาจิตให้ยกระดับสูงขึ้น เพื่อรู้เท่าทันกิเลส
โดยหลักการทั่วไป การฝึกกรรมฐานมักเริ่มต้นด้วย สมถะกรรมฐานก่อนครับ แต่วิธีการฝึกไม่มีอะไรตายตัวนัก แล้วแต่ว่าจะสรรหาวิธีการอะไรมาประคองให้จิตของเราเข้าสู่สภาวะ สมถะ ได้ บางคนใช้การภาวนา พุทโธ โดยหายใจเข้าออกเสียงพุท หายใจออกออกเสียงโธ อย่างวัดธรรมกายก็ใช้วิธีการเพ่งภาวนาไปยังดวงแก้ว สิ่งเหล่านี้คืออุบายในการปรับสภาพจิตทั้งนั้น ไม่มีวิธีการที่ถูกหรือผิด เพราะสุดท้ายสิ่งที่ได้คือ การสำรวมจิตไปจดจ่อยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน
ขั้นที่ยากคือการเอาจิตที่เป็น สมถะ แล้วไปพิจารณาเข้าสู่การ วิปัสนา นี่แหละ ยากเพราะหลายคน เมื่อจิตเป็น สมถะ แล้ว ก็จะติดอยู่ในความสบาย สงบ หรือเป็นนิมิต เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ทำให้ติดอยู่ในวังวนของการภาวนา จนลืมพิจารณาเพื่อให้ปัญญาเกิด
ถ้าถามผมว่า เมื่อจิตของเรานิ่งแล้วจะได้อะไร คำตอบของผมคือ การเข้าถึงความรู้ในแบบที่ผัสสะภายนอกให้กับเราไม่ได้ครับ
เมื่อจิตเป็น สมถะ ได้แล้ว การพิจารณาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวรอบตัว และสภาวะร่างกายของตัวเอง จะพบว่ามันเข้าถึงสิ่งนั้นได้ ละเอียด เป็นขั้นตอน และเข้าใจในสิ่งนั้นได้แจ่มแจ้ง ในแบบที่ไม่มีการอธิบายไหนสามารถบอกได้เท่าเทียม
ขอเล่าถึงการปฏิบัติของตัวเองแล้วกัน เรื่องของเรื่องคือทุกเย็น หากไม่ติดกิจธุระจำเป็นอะไร พระทุกรูปต้องออกไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นที่โบสถ์ โดยวันพระถือเป็นวันที่ขาดไม่ได้ ก่อนสวดมนต์ในโบสถ์จะมีการนั่งภาวนาก่อนประมาณหนึ่งชั่วโมง ด้วยความที่เป็นวันพระ ผมอู้ไม่ได้ ก็ต้องไปทั้งที่ยังไม่พร้อมเท่าไหร่นั่นแหละ ด้วยความที่ไม่ได้นั่งขัดสมาธิมาเป็นสิบปี พอนั่งได้ซักห้านาที ขามันก็เริ่มปวด ปวดเพราะสังขารตัวเอง ที่ช่วงขาเกิดอุบัติเหตุซ้ำหลายครั้ง จนเส้นเอ็นกล้ามเนื้อมันยึด มันยืดได้ไม่เต็มที่ด้วย ใจตอนนั้นคือต้องทนนั่งไปจนกว่าจะถึงเวลาสวดมนต์ ความเจ็บปวดมันก็รุกเร้าเราไปเรื่อยๆ จนตัดสินใจ ไม่คิดถึงความเจ็บมันอีก เพราะตัวเองภาวนาไม่เก่ง ท่องพุทโธ เดี๋ยวก็แวบไปคิดโน่นคิดนี่ สู้นั่ง "เฉยๆ" ไปเลยจะดีกว่า
ไอ้ตอนนั่ง "เฉยๆ" นี่แหละจริงๆ มันก็ไม่ได้เฉยๆ แต่มันกลายเป็นการจดจ่อไปยังร่างกายของเราเองว่า ทำไมถึงเจ็บปวด มันเจ็บปวดจากไหน พอตัดความคิดฟุ้งซ่านออก เพียงชั่วครู่ที่ใจเรา "นิ่ง" ได้จริงๆ จิตผมก็ลงไปพิจารณาอาการเจ็บปวดของตัวเองได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ช่วงเวลาไม่นานนั้น ผมเข้าใจถึงสภาพกระดูกตรงเชิงกราน รู้ถึงความเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นที่ยึดขาไว้ ลำดับการขยับของกระดูก ซึ่งเคลื่อนลงตามแรงกดของน้ำหนักตัวได้อย่างละเอียด ละเอียดชนิดที่ว่า ได้ยินเสียงขลึ่กขลั่กจากภายในร่างกายของเราเอง แต่สภาพมันอยู่ได้เพียงไม่นาน ด้วยเพราะความที่เราไม่ได้ควบคุมมันได้ มันทะยานไปเพื่อบอกสิ่งที่เราอยากรู้ด้วยตัวมันเอง พอเรารู้ มันก็หลุด ความนิ่งก็หาย จิตก็กลับไปฟุ้งซ่านอีกครั้ง
---------------------------------------------------------------------------
ถ้าถามผมว่า "เราสามารถข้ามการสมถะกรรมฐาน ไปฝึกวิปัสนากรรมฐานได้เลยไหม" คำตอบของผมคือ "ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน" เรื่องพวกนี้ขึ้นกับพื้นฐานจิตของตัวเอง ว่าพร้อมที่จะนิ่ง พร้อมที่จะพุ่งทะยาน ไปยังสภาวะที่ไม่สามารถใช้ผัสสะหยั่งถึงได้หรือยัง
หลายคนมีบุญเก่าดี จิตสามารถเข้าถึงความนิ่งได้โดยไม่ต้องพึ่งอุบายต่างๆ การไปฝึกวิปัสนาเลยย่อมทำได้ครับ แต่ถ้าจิตยังไม่นิ่ง แต่ไปมุ่งวิปัสนา เราจะไม่สามารถตัดการรบกวนจากกิเลสได้เลย
เพราะกิเลสมันคือสิ่งที่หล่อหลอมตัวเราให้ยึดถือเนื้อหนังมังสา สิ่งต่างๆ รอบตัวเราไว้ ที่แย่คือมันไว มันล้ำลึกกว่าเกินกว่าจะใช้แค่ความรู้ หรือความฉลาดจัดการมันได้ มีสองสิ่งที่เราจะใช้เป็นอาวุธจัดการกับกิเลส นั่นคือ "สติ" และ "ปัญญา" ที่สำคัญสองสิ่งนี้ ถ้าเราไม่ "สงบ" มันก็ไม่เกิดเสียด้วยสิ
วันอาทิตย์, พฤษภาคม 06, 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น