วันพุธ, เมษายน 25, 2550

ผ้าไตรฯ ผ้าสามชิ้น ที่สำคัญยิ่งชีพ

หนึ่งในกิจของสงฆ์ต้องปฏิบัติอยู่วัตรคือการครองผ้าไตรฯ ผ้าไตรฯ คือเครื่องนุ่งห่มชุดมาตรฐานของพระสงฆ์ในนิกาย เถรวาท ซึ่งมีข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัยทั้งหมด 227 ข้อหลัก ที่เรียกผ้าไตรฯ เพราะทั้งหมดประกอบด้วยผ้าสามผืน นั่นคือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่มตัว) และสังฆาฏิ (ผ้าคลุมกันหนาว) ส่วนผ้าที่ใส่ปกติกันทุกวันนี้อีกสองชิ้นคือ ผ้าพันตัว (คือผ้าผืนนึงที่ไว้ใส่ลำลองแทนจีวร) กับผ้ารัดเอว (เอาไว้รัดสังฆาฏิเวลาแต่งเต็มยศ) ไม่ได้ถูกนับรวมดังนั้นสองผืนหลังนี่ ไม่มีก็ไม่ผิดพระธรรมวินัยครับ

หลังจากได้รับผ้าทั้งสามผืนจากพิธีบวช ขั้นตอนต่อมาคือ การทำพินธุ หรือแต้มตำหนิเพื่อถือครองผ้าไว้ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของตน พิธีการครองผ้ามันไม่ยากเย็นอะไรหรอกครับ สิวๆ ชิวเดร้นๆ แต่ไอ้ที่ทำเอาแย่ไปหลายวันก็คือการนุ่งผ้าสามผืนพวกนี้นี่แหละ

สังฆาฏินี่ไม่มีอะไรยาก เพราะปกติเอาไว้พาดบ่า ซึ่งมันได้ใช้จริงๆ สองครั้ง คือตอนทำพิธีบวช กับทำพิธีสึกแค่นั้น แต่ที่ยุ่งยิ่งนักคือ สบง กับจีวร ครับ

บวชเจ็ดวัน ใส่จีวรเองได้ก็เก่งแล้ว ใครถูกพูดแบบนี้ อย่าไปโกรธนะครับ เพราะมันเป็นความจริงนั่นแหละ โดยเฉพาะพระบวชใหม่ซิงๆ ยังไม่ใช่บวชไม้สอง ไม้สาม

ตอนทำพิธีบวชมีพระพี่เลี้ยงแต่งตัวให้มันเลยไม่ยากเท่าไหร่ แต่ความสลดมันเริ่มต้นหลังจากตอนบวชเนี่ยครับ เพราะผ้าทั้งสามผืน มันคือผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่สามผืนเท่านั้นเอง ไม่ได้ถูกเย็บไปผ้านุ่งแบบผ้าถุง รึผ้าซิ่นของผู้หญิง สำหรับ สบง จะดูว่าแต่งได้เรียบร้อยไม่เรียบร้อยดูได้ที่การเก็บชายผ้านี่แหละ ถ้าเห็นชายผ้าที่เป็นแลบ ถือว่ายังไม่คล่อง และควรระวังดีๆ เพราะต่อให้คาดสายประคดรัดเอวไว้แน่นแค่ไหน ก็มีโอกาสสร้างทัศนะอุจาดได้ตลอดเวลา อย่าว่ายังงั้นยังงี้เลย ผมเองยังทำสบงร่วงตอนแต่งตัวไปทำวัตรเย็นมาแล้ว อนาถจริงๆ

ส่วนจีวรนี่อาจไม่สร้างความอุจาดเท่า แต่มันคือผ้าที่ต้องแต่งทุกวัน วันละอย่างน้อยสองครั้งคือ ตอนเช้าออกบิณฑบาตร และเย็นตอนออกไปทำวัตรเย็นที่อุโบสถ แถมการแต่งมีสองแบบคือ ถ้าพิธีการอยู่ในเขตวัด จะเป็นการห่มจีวรแบบเฉียง คือเปิดไหล่ขวา แต่ถ้าออกนอกวัด อย่างบิณฑบาตรตอนเช้า จะเป็นการห่มแบบปิดไหล่ทั้งสองข้าง

ด้วยความใหญ่รุ่มร่าม แต่ต้องนุ่งห่มให้พอดีตัว วิธีการดูไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เอามาห่มตัวไว้ เก็บชายผ้าด้วยการม้วนทบปลายด้านหนึ่ง ให้เป็นเกลียวสามเหลี่ยม แล้วเอาปมผ้าที่ม้วนไพล่ขึ้นพรึ่บพรั่บ โอ้ย ดูหลวงตาทำ อีซี่ๆ โนวพรอมแพรมแต่ทำไมเวลาทำเองมันยากจังฟระ โอ้ย ผ้าทำไมม้วนเก็บชายยากจังวุ้ย ดึงปลายผ้าสูงพอรึยังหว่า (ถ้าดึงปลายด้านที่เราตั้งต้นม้วนไม่สูงพอ เพราะจะได้ชุดวิวาห์ทิ้งชายสวยๆ น่าเกลียดมาก) ปมม้วนเก็บดีรึยัง แถมตอนเสร็จต้องหนีบรักแร้ซ้ายไว้ให้ดี ไม่งั้นผ้าทั้งหมด จะร่วงลงมากองตรงหน้าตอนก้มตัวอีก โอย น่าอนาถกันอีกแล้ว

ส่วนตัวยอมรับครับว่าไม่ใช่คนอดทนกับเรื่อจุกจิกเท่าไหร่ แต่การครองผ้าทั้งจีวร และสบง มันจำเป็นต้องทำทุกวันในตอนบวช ก็ต้องฝึกห่มกันหลายครั้ง แต่เชื่อมั้ยว่าทำยังไงก็ไม่รอดครับ ยังเละ ยังแย่ จนต้องพวกหลวงตาต้องมาช่วยจัดการให้ทุกทีก่อนออกไปบิณฑบาตร แถมตอนเดินก็ยังห่วงกลัวมันร่วงลงจากไหล่อีก พาลจะทำบาตรร่วงลงพื้นตามไปด้วย วันแรกๆ เลยเป็นการบิณฑบาตรสุดทะลักทุเล จนนึกถึงทีไรก็ยังทุเรศตัวเองอยู่

แล้วพอวันที่ห้า ด้วยอารมณ์หงุดหงิดตัวเอง บวกกับเกรงใจหลวงตาทั้งหลาย เลยตัดสินใจห่มจีวรให้ตัวเองแบบหลับหูหลับตาไปเลย ไม่ต้องคิดมากโอ๊ะ! มันก็ได้วุ้ย! บทมันจะได้ก็ได้ง่ายๆ เลยครับ อะไรที่เคยทำได้ยาก ก็ทำแบบไม่ลำบากเท่าไหร่ วันเวลาที่เหลือ เลยได้กลายเป็นพี่เลี้ยงพระใหม่ จัดการเรื่องจีวรบ้าง

ด้วยเรื่อง จีวร นี่แหละ ถึงทำให้ผมเข้าใจความจริงของชีวิตบางเรื่องที่ว่า บางครั้ง การแก้ปัญหา มันอยู่ที่เวลานั่นแหละ การไปเร่ง ไปดันมันมาก ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แถมยังทำให้เราทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก

ขอทิ้งท้ายความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับผ้าไตรฯ ครับ

- ผ้าไตรฯ และอัฐบริขาร (บาตร ผ้าปูนั่ง เป็นต้น) ห่างจากกายสงฆ์เกินกว่าหนึ่งศอกไม่เกินหนึ่งวันกับหนึ่งคืน คือสงฆ์ไม่ควรทิ้งสิ่งของที่เป็นของใช้ส่วนตัว ให้พ้นสายตา และต้องดูแลตลอดเวลานั่นแหละครับ ถ้าหากอยู่ห่างจากตัวล่วงเวลาดังกล่าว ติดอาบัติ ถุลปัจจัย ทางแก้ของผมคือ เอาสังฆาฏิ กับจีวรหนุนหัวนอนเลยครับ บาตรก็วางไว้บนเตียงนั่นแหละง่ายดี

- พระธรรมวินัยอนุญาตให้สงฆ์อยู่โดยปราศจากผ้าไตรฯ ได้หนึ่งวันกับหนึงคืน ครับ คือเผื่อซักตากนั่นเอง แต่ไม่ได้แปลว่าอนุญาตให้แก้ผ้าเปลือยนะครับ อันนั้นจะไปผิดอีกข้อนึงแทน

- ผ้าจีวรผืนใหญ่ๆ บางทีดูยากครับ ว่าด้านไหนเป็นด้านใน ด้านไหนเป็นด้านนอก โดยเฉพาะจีวรที่ยังไม่มีร่องรอยการใช้งาน ให้สังเกตที่ขอบผ้าเอาครับ ขอบผ้าด้านนึง จะมีการเย็บเป็นปมเชือกเอาไว้เป็นดุมไว้ติดจีวรให้ชายผ้าไม่ปลิวตามลมไปมา ด้านที่มีปมแบบนั้น ด้านนั้นคือด้านในครับ ส่วนที่ดูว่าส่วนไหนอยู่ด้านบน หรือด้านล่าง ให้ดูที่ด้านที่มีปมอยู่ช่วงกลางผ้า ปมคู่กลางคู่นั้น เอาไว้ติดช่วยยึดผ้าไว้หัวไหล่ เพื่อให้ห่มจีวรได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

- ส่วนใหญ่ผ้าไตรฯ วัดมักจัดให้อย่างละผืน แต่จะมี สบง ที่อาจจัดไว้ให้สองผืนสองแบบ คือแบบเย็บเป็นตาช่อง ซึ่งผ้าจะหนากว่า เอาไว้นุ่งเวลาออกไปนอกวัด ส่วนอีกแบบจะเป็นผ้าเรียบๆ ชั้นเดียว ผืนนี้ไว้นุ่งอาบน้ำ หรือใช้นุ่งอยู่ภายในวัดครับ

- ผ้าจีวรส่วนใหญ่ จะทำด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้าโทเล ซึ่งแห้งง่ายมาก ถ้าแดดดี หรือลมโกรก ซักตากก็แห้งภายในชั่วโมงเดียวครับ ผืนเบ้อเร่อแบบนั้นนั่นแหละ ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างว่า ซักไม่แห้ง ยกเว้นไปซักเอาตอนฝนตกทั้งวัน แต่ถ้าทำยังงั้นจริงๆ คงไม่ใช่แค่โง่ครับ ต้องบ้าเอาการ

- ปกติเครื่องนุ่งสบงจะมีสายประคดมาให้ ถ้าไม่มีอะไรรัดเอวจริงๆ เชือกฟางอะไรซักเส้นก็ได้ครับมารัดคาดเอวไว้เถอะ อย่าโชว์ทำนุ่งแบบโสร่งนะครับ ผ้ามันเบามาก ลมพัดแรงๆ เดี๋ยวปลิวตามเก็บไม่ทันเนี่ย รู้ถึงไหน อายถึงนั่นจริงๆ นะ

วันพุธ, เมษายน 18, 2550

เรื่องเล่าจากกำแพงวัด: บิน-ต๊ะ-บาดดด...

แน่นอนว่าใครก็ตามที่่นับถือศาสนาพุทธ มากกว่าแค่พิมพ์ไว้ในทะเบียนบ้าน
ย่อมต้องเคยใส่บาตรตอนเช้ากันทั้งนั้น และแน่นอนว่า บุรุษใดก็ตามบนโลกน
ที่นับถือพุทธศาสนา และได้บวชเป็นบรรพชิต การบิณฑบาตร ถือเป็นวัตร
ที่ต้องปฏิบัติทุกวันหากไม่มีเหตุอันจำเป็นให้ต้องงดเว้น (เช่นเป็นวัดอยู่สามจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ช่วงไหนพวกโจรออกมา เฮดช็อต บ่อย ๆ อาจจะงดบิณฑบาตร
เป็นชั่วคราวได้ แต่ต้องเป็นมติของสงฆ์ที่อยู่ในวัดทั้งหมดนะครับ)

*******************************************

โดยหลักการ การทำบุญ ไม่ใช่เฉพาะใส่บาตรอาหารพระเท่านั้น มีองค์ประกอบ
ที่ต้องคิดถึงอยู่ 3เรื่อง หนึ่งคือวัตถุดี หนึ่งคือเจตนาของผู้ทำบุญดี และสุดท้ายคือ
ผู้รับเป็นบุคคลที่ดี

ข้อแรกวัตถุดี ก็คือสิ่งที่ใช้ทำทานเป็นวัตถุที่มาจาี่กปัจจัยตั้งต้นดี ดีที่ว่าคือ
ไม่ได้เป็นผลจากเหตุที่ชั่ว ไม่ได้ปล้นใครมา ไม่ได้เป็นวัตถุต้องห้ามอันพึงงดเว้น
ยกตัวอย่างทำบุญอาหารก็คือ เป็นอาหารที่ประกอบขึ้นเพื่อการบริโภค ใช้วัตถ
ุที่กินทั่วไป ไม่ต้องอลังการแบบดีงู จู๋ช้าง แค่ธรรมดา ไม่เลว ก็ถือว่าดีแล้วครับ
จริงๆ แล้วถ้าพระรู้ว่าอาหารนั้นฆ่าสัตว์มาเพื่อทำบุญโดยเฉพาะ ท่านจะไม่ฉันอาหารนั้น
เพราะพระธรรมวินัยระบุว่า การฆ่าสิ่งมีชีวิตเพื่อการทำบุญโดยเฉพาะ ถือเป็นเรื่อง
ไม่สมควร ใส่บาตรก็ใส่อาหารที่กินกันธรรมดาเถอะครับ พระไม่ติหรอก

ส่วนคนทำบุญดี นั่นคือตั้งใจทำบุญเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ
ไม่ใช่ทำหวังเอาบุญขึ้นสวรรค์ ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์วันข้างหน้า
การใส่บาตร เจตนาคือการช่วยเหลือให้พระสงฆ์มีอาหารกิน เพื่อยังชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรม
และสั่งสอนคนอื่นให้รู้ถึงรสพระธรรม เรื่องบุญเป็นอานิสงค์อันเกิดจากการทำดี
ของเราอยู่แล้ว ไม่ต้องมองข้ามช็อตไกลนักก็ได้ครับ

ให้แก่ผู้ปฏิบัติดี ข้อนี้สิยากสุด เพราะปัจจัยขึ้นผู้รับ ถ้าให้อาหารกับพระปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ อานิสงค์นั้นย่อมเกิดกับเราเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเลี้ยงคนชั่วให้ออกไป
ทำบาปกรรม นั่นก็เท่ากับเราได้ทำบาปไปด้วยนะครับ

**********************************************

ในเวลาไม่กี่วันที่เข้าไปใช้ชีวิตเป็นบรรพชิต สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในแต่ละวัน
คือการออกไปบิณฑบาตรตอนเช้านี่แหละครับ

เรื่องน่าตื่นเต้นไม่ใช่แค่ลุ้นว่าวันไหนจะมีคนใส่บาตรมากน้อย เพราะจะมากจะน้อย
พระรูปนึง ก็ขนของกลับวันกันขี้ริ้วขี้เหร่คนละร่วม 5-6 กิโลอยู่แล้ว (นี่วัดจากพระท้ายแถว
นั่นคือพระบวชใหม่นะครับ) แต่ที่น่าตื่นเต้นคือ ในแต่ละวันจะมีคนเอาของมาใส่บาตร
กันหลากหลายชนิดที่เรียกว่า สุดแต่เจ้าตัวจะจินตนาการได้เลยตะหาก

บางคนมีความเชื่อเรื่องใส่บาตรประเภทที่ว่า ใส่เอาไว้ให้ตัวเองกินตอนตาย เพราะเคยอ่าน
หรือได้ยิน เรื่องคนที่ตายแล้วฟื้นกลับมาเล่าเป็นตุเป็นตะว่า ของที่เคยใส่ไปนะ ตอนอยู่ในนรก
มันมาตามนั้นเลย... ฮัดช่า! คุณลุงคุณป้าเลยใส่มาเต็มเหนี่ยวอย่างที่ว่าเลยครับ ข้าวร้อนๆ
ใส่มาเต็มทัพพี แกงใส่มาเป็นถุงแบบที่ขายตามตลาด บางคนตายแล้วกลัวไม่มีโจ๊กกิน
ก็เลยใส่โจ๊กเข้าบาตรแบบถุงเบ้อเร่อ เรียกว่าเล่นเอาพระใหม่พะรุงพะรังเอาเรื่อง
ดีที่มีเด็กวัดมาคอยรับของในบาตรไว้ ไม่งั้นพระเดินแค่สองสามเมตรก็ได้กลับหอฉันแล้ว
เพราะเต็มบาตรหมด นี่ยังไม่รวมประเภทน้ำเป็นขวด บางคนกลัวนรกมันร้อนมากมั้ง
ใส่เป๊บซี่ลิตรให้พระมาด้วย ป๊ากเดียวบาตรแทบคว่ำ

ข้างบนว่ากวนแล้ว แต่บางครั้งมีกวนกว่า ที่เจอกับตัวเองคือ ใส่บาตรด้วยน้ำปลาเป็นขวด
กระเทียม- พริกแห้งเป็นถุง เข้าใจว่าพระทำกับข้าวเองได้มั้งครับ หลวงพี่ที่บวชมาก่อน
เ่ล่าให้ฟังว่าสมัยบวชเณร จำวัดอยู่ที่พิษณุโลก มีญาติโยมอยากให้พระฉันส้มตำครับ
เพราะตัวเองมีพื้นเป็นคนอีสาน เห็นเณรมาจากอุดรเลย เลยใส่บาตรเป็นมะละกอดิบเป็นลูกๆ
มะเขือ กระเทียม พริกแห้ง เป็นถุง พร้อมสำทับว่า "ที่วัดคงมีครกหละเนาะ เอาไปเฮ็ดเองเด้อ"

ฮ่วย!!!...

แต่ท้ายสุด คงไม่มีใครเก๋เท่าวัยรุ่นไทยยุคเพลงอีโมฯ (มันคือเพลงแบบไหนวะ เข้าใจว่า
เป็นเพลงร้องยานๆ แบบพี่แบ๊งก์วงแคลช นั่นอะ) ที่สรรหาวิธีการมาใส่บาตรได้จ๊าบ
กระชากใจจริงๆ

พวกน้องๆ เค้าใส่บาตรด้วยน้ำมันเครื่ิองครับ!

วิธีการคือพอพระบิณฑบาตร เดินออกมานอกประตูวัด พวกน้องเค้าก็รออยู่ตรงทางแยกหน้าวัด
พอพระ-เณร เดินมาใกล้ๆ เขาก็ "แบ๊นๆๆๆๆๆๆ แหบนนนนนนนนนนนนนนนนน" เบิ้ลเครื่องระรัว
ปลดปล่อยไอเสียออกมา ก่อนกระชากตัวซิ่งหายลับสายตาขบวนบุญของบรรพชิตทั้งหลายไป ด้วยความที่เป็นพระไม่สามารถด่าแช่งใครได้ ถึงจะเจอเรื่องทุเรศเหลืออดแบบนี้ สิ่งที่พระทำได้คือ

"จำเริญๆ เด้อโยม"

ใช่ครับ เจริญพรไล่หลังน้องๆ อีโมฯ พวกนั้นไป

แต่ปกติเด็กพวกนี้ ไม่ได้มา แบ๊นๆ กันทุกวันหรอกครับ มันมีเหตุอยู่นิดนึงคือ พอขากลับเข้าวัด
ก็มีคันหลังสุดมารอส่งท้าย เณรที่บวชมาก่อนผมวันนึง ก็เดินเร่งมากระซิบข้างๆ ผมว่า "ครูบา
ไอ้พวกนั้นมันเป็นเพื่อนเณรเองหละ" ...แหม่เณร ดีนะมันไม่ไปเบิ้ลใส่บาตรกันหน้าหอฉันเลย

- -"

สาธุ...


***********************************************

ก่อนจากขอแนะนำวิธีการใ่สบาตรแบบคนที่ผ่านวัดวามาหน่อยแล้วกันครับ

- ใส่แค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ครับ อย่าง ข้าว กับข้าว น้ำดื่ม ขนมหวาน อย่างเดียวก็ได้
ไม่ผิดกฏ จำนวนไม่ต้องมากครับ คนละครึ่งทัพพี สี่สิบคนก็ยี่สิบทัพพีแล้วครับ ไอ้ประเภท
มาแบบคอมโบเซ็ทชุดประหยัดเนี่ย สงสารเด็กวัดบ้างก็ดีครับ หิ้วกันพะรุงพะรัง
เป็นลิงกินโต๊ะจีนเลย

- ของบางอย่างเราควรเปลี่ยนสภาพมันไม่ให้เหมือนรูปเดิมครับ เช่นไข่ ถ้าจะใส่บาตร
เป็นไข่ต้ม ควรแกะเปลือกออกให้เห็นเนื้อใน ผ่าให้รู้ว่าไข่สุกแล้วยิ่งดีครับ
ผลไม้ต้องทำให้มันเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้อีก เช่น ควักเมล็ดออก หรือแทงเมล็ด
ให้แตก ของบางอย่างเช่นกล้วย ให้เฉือนปลายหัวท้ายออกก่อนใส่บาตร
เพราะพระฉันสิ่งที่ยังเจริญเติบโตต่อไป เช่น ลูกไม้ทั้งลูก เมล็ดพืชไม่กระเทาะเปลือก
ไม่ได้ครับ

- อ้อที่สำคัญ วัดมีโรงครัวเป็นโรงทานครับ ไม่ใช่โรงครัวทำกับข้าวให้พระฉัน
ของดิบอย่างที่เล่าไว้ข้างต้นไม่ต้องใส่มานะครับ พระทำกินเองไม่ได้ - -"


คราวนี้ มาเล่าเรื่องเครื่องแต่งกาย ที่กว่าจะแต่งเป็น เล่นเอาพระใหม่แทบอยากสึกครับ...

วันอาทิตย์, เมษายน 15, 2550

เรื่องเล่าจากหลังกำแพงวัด

ชีวิตคุณเคยบวชหรือยังครับ?...

ช่วงนี้ถามคำถามแบบนี้กันหน่อย เพราะเพิ่งสึกมาไม่กี่วันนี้เองครับ ไปใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัตรมาพักนึง ไม่ใช่ด้วยอารมณ์หกอัก รักระทม อินเทรนด์อะไรกับชาวบ้านเขาหรอก

สาเหตุจริงๆ คืออยากลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชีวิตแบบเงียบสงบดูบ้าง อยากรู้วิธีกรรมฐาน อยากรู้ว่าเราจะทำใจให้สงบได้จริงๆ บ้างไหม

ถึงจะเป็นการบวชเพียงไม่นาน แต่สุดท้ายที่ได้มา นอกจากหัวเกรียนติดหนังศรีษะ ก็คือเข้าใจถึงมุมมองทางศาสนาที่แสวงหาความสงบที่แท้จริงในชีวิต

เมื่อตอนบวช พอมองกลับถึงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจถึงสภาวะของตัวเอง ที่น่าจะเรียกได้เวลา เมาหมัดไปกับการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน

ทำให้เข้าใจว่า ทำไมการตื่นขึ้นมาทุกเช้า ต้องรู้สึกว่าไปทำงานทำไมมันเกิดขึ้นในหัว เข้าใจว่า สุดท้ายคนที่เลือกใช้ชีวิตแบบนั้นก็คือตัวเราเอง ไม่มีใครบังคับเราได้

เมื่อตอนเซ็นใบลาออก แว้บแรกที่นึกคือถามตัวเองว่าคิดดีแล้วเหรอ ตอนนี้ก็ตอบได้แล้วว่า มันเป็นทางที่ดีที่สุดแล้ว

เมื่อรู้สึกว่าหนทางข้างหน้ามันไม่มีอะไรแน่นอน มันไม่มีอะไรดีขึ้น เราก็ต้องออกมาหาทางเดินใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้ง อย่าคาดหวังอะไรกับคนอื่นให้มากนัก สิ่งเดียวที่ทำได้ คือจัดการกับตัวเองให้ดีที่สุด แล้วเรื่องอื่นมันจะจัดการได้เอง

พอบวชถึงได้รู้ว่า ความรู้ความเข้าใจที่มีในพุทธศาสนา ยังห่างกับคำว่า "เข้าใจ" มากอยู่
คือรู้แต่ใช้อะไรมันไม่ได้เท่าไหร่ เข้าทำนอง ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ประมาณนั้น

สิ่งที่ต้องปรับปรุงตัวเองคือ การเอาเรื่องที่รู้ ออกมาใช้งานให้ได้มากที่สุด เปลี่ยนจากการเป็นพวกรู้มาก เป็นพวกทำได้มากให้เร็วๆ

ปัญหาอะไรที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมันอีก ปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพของมัน เราไม่ได้อยู่กับมันแล้ว ก็จงอย่าเอามันมาอยู่ในใจเราเอง

******************************************

ถึงจะสึกมาแล้วช่วงนี้ก็ยังต้องไปรับบาตรกับหลวงตา รวมถึงไปเช็กสภาพใจตัวเองกับหลวงตา ว่าพร้อมกลับไปลุยชีวิตที่กรุงเทพหรือยังอีกซักพัก

ต่อไปคงต้องวุ่นกับหลายเรื่องในชีวิต แต่ต้องปรับใจตัวเองให้ได้ก่อนว่า การเริ่มต้นใหม่ ทุกอย่างมันขลุกขลักไปหมดอย่างนี้แหละ ขอแค่ใจอย่าเอามันมาทุกข์มากนักก็พอ

เดี๋ยววันหลังมาต่อว่า พอไปบวชแล้ว มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในวัดบ้าง


วันนี้มาขอซ้อมมือหลังจากรื้อไปนานก่อนแล้วกันครับ