หนึ่งในกิจของสงฆ์ต้องปฏิบัติอยู่วัตรคือการครองผ้าไตรฯ ผ้าไตรฯ คือเครื่องนุ่งห่มชุดมาตรฐานของพระสงฆ์ในนิกาย เถรวาท ซึ่งมีข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัยทั้งหมด 227 ข้อหลัก ที่เรียกผ้าไตรฯ เพราะทั้งหมดประกอบด้วยผ้าสามผืน นั่นคือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่มตัว) และสังฆาฏิ (ผ้าคลุมกันหนาว) ส่วนผ้าที่ใส่ปกติกันทุกวันนี้อีกสองชิ้นคือ ผ้าพันตัว (คือผ้าผืนนึงที่ไว้ใส่ลำลองแทนจีวร) กับผ้ารัดเอว (เอาไว้รัดสังฆาฏิเวลาแต่งเต็มยศ) ไม่ได้ถูกนับรวมดังนั้นสองผืนหลังนี่ ไม่มีก็ไม่ผิดพระธรรมวินัยครับ
หลังจากได้รับผ้าทั้งสามผืนจากพิธีบวช ขั้นตอนต่อมาคือ การทำพินธุ หรือแต้มตำหนิเพื่อถือครองผ้าไว้ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของตน พิธีการครองผ้ามันไม่ยากเย็นอะไรหรอกครับ สิวๆ ชิวเดร้นๆ แต่ไอ้ที่ทำเอาแย่ไปหลายวันก็คือการนุ่งผ้าสามผืนพวกนี้นี่แหละ
สังฆาฏินี่ไม่มีอะไรยาก เพราะปกติเอาไว้พาดบ่า ซึ่งมันได้ใช้จริงๆ สองครั้ง คือตอนทำพิธีบวช กับทำพิธีสึกแค่นั้น แต่ที่ยุ่งยิ่งนักคือ สบง กับจีวร ครับ
“บวชเจ็ดวัน ใส่จีวรเองได้ก็เก่งแล้ว” ใครถูกพูดแบบนี้ อย่าไปโกรธนะครับ เพราะมันเป็นความจริงนั่นแหละ โดยเฉพาะพระบวชใหม่ซิงๆ ยังไม่ใช่บวชไม้สอง ไม้สาม
ตอนทำพิธีบวชมีพระพี่เลี้ยงแต่งตัวให้มันเลยไม่ยากเท่าไหร่ แต่ความสลดมันเริ่มต้นหลังจากตอนบวชเนี่ยครับ เพราะผ้าทั้งสามผืน มันคือผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่สามผืนเท่านั้นเอง ไม่ได้ถูกเย็บไปผ้านุ่งแบบผ้าถุง รึผ้าซิ่นของผู้หญิง สำหรับ สบง จะดูว่าแต่งได้เรียบร้อยไม่เรียบร้อยดูได้ที่การเก็บชายผ้านี่แหละ ถ้าเห็นชายผ้าที่เป็นแลบ ถือว่ายังไม่คล่อง และควรระวังดีๆ เพราะต่อให้คาดสายประคดรัดเอวไว้แน่นแค่ไหน ก็มีโอกาสสร้างทัศนะอุจาดได้ตลอดเวลา อย่าว่ายังงั้นยังงี้เลย ผมเองยังทำสบงร่วงตอนแต่งตัวไปทำวัตรเย็นมาแล้ว อนาถจริงๆ
ส่วนจีวรนี่อาจไม่สร้างความอุจาดเท่า แต่มันคือผ้าที่ต้องแต่งทุกวัน วันละอย่างน้อยสองครั้งคือ ตอนเช้าออกบิณฑบาตร และเย็นตอนออกไปทำวัตรเย็นที่อุโบสถ แถมการแต่งมีสองแบบคือ ถ้าพิธีการอยู่ในเขตวัด จะเป็นการห่มจีวรแบบเฉียง คือเปิดไหล่ขวา แต่ถ้าออกนอกวัด อย่างบิณฑบาตรตอนเช้า จะเป็นการห่มแบบปิดไหล่ทั้งสองข้าง
ด้วยความใหญ่รุ่มร่าม แต่ต้องนุ่งห่มให้พอดีตัว วิธีการดูไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เอามาห่มตัวไว้ เก็บชายผ้าด้วยการม้วนทบปลายด้านหนึ่ง ให้เป็นเกลียวสามเหลี่ยม แล้วเอาปมผ้าที่ม้วนไพล่ขึ้นพรึ่บพรั่บ โอ้ย ดูหลวงตาทำ อีซี่ๆ โนวพรอมแพรม… แต่ทำไมเวลาทำเองมันยากจังฟระ โอ้ย ผ้าทำไมม้วนเก็บชายยากจังวุ้ย ดึงปลายผ้าสูงพอรึยังหว่า (ถ้าดึงปลายด้านที่เราตั้งต้นม้วนไม่สูงพอ เพราะจะได้ชุดวิวาห์ทิ้งชายสวยๆ น่าเกลียดมาก) ปมม้วนเก็บดีรึยัง แถมตอนเสร็จต้องหนีบรักแร้ซ้ายไว้ให้ดี ไม่งั้นผ้าทั้งหมด จะร่วงลงมากองตรงหน้าตอนก้มตัวอีก โอย น่าอนาถกันอีกแล้ว…
ส่วนตัวยอมรับครับว่าไม่ใช่คนอดทนกับเรื่อจุกจิกเท่าไหร่ แต่การครองผ้าทั้งจีวร และสบง มันจำเป็นต้องทำทุกวันในตอนบวช ก็ต้องฝึกห่มกันหลายครั้ง แต่เชื่อมั้ยว่าทำยังไงก็ไม่รอดครับ ยังเละ ยังแย่ จนต้องพวกหลวงตาต้องมาช่วยจัดการให้ทุกทีก่อนออกไปบิณฑบาตร แถมตอนเดินก็ยังห่วงกลัวมันร่วงลงจากไหล่อีก พาลจะทำบาตรร่วงลงพื้นตามไปด้วย วันแรกๆ เลยเป็นการบิณฑบาตรสุดทะลักทุเล จนนึกถึงทีไรก็ยังทุเรศตัวเองอยู่
แล้วพอวันที่ห้า ด้วยอารมณ์หงุดหงิดตัวเอง บวกกับเกรงใจหลวงตาทั้งหลาย เลยตัดสินใจห่มจีวรให้ตัวเองแบบหลับหูหลับตาไปเลย ไม่ต้องคิดมาก… โอ๊ะ! มันก็ได้วุ้ย! บทมันจะได้ก็ได้ง่ายๆ เลยครับ อะไรที่เคยทำได้ยาก ก็ทำแบบไม่ลำบากเท่าไหร่ วันเวลาที่เหลือ เลยได้กลายเป็นพี่เลี้ยงพระใหม่ จัดการเรื่องจีวรบ้าง
ด้วยเรื่อง จีวร นี่แหละ ถึงทำให้ผมเข้าใจความจริงของชีวิตบางเรื่องที่ว่า “บางครั้ง การแก้ปัญหา มันอยู่ที่เวลานั่นแหละ การไปเร่ง ไปดันมันมาก ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แถมยังทำให้เราทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก”
ขอทิ้งท้ายความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับผ้าไตรฯ ครับ
- ผ้าไตรฯ และอัฐบริขาร (บาตร ผ้าปูนั่ง เป็นต้น) ห่างจากกายสงฆ์เกินกว่าหนึ่งศอกไม่เกินหนึ่งวันกับหนึ่งคืน คือสงฆ์ไม่ควรทิ้งสิ่งของที่เป็นของใช้ส่วนตัว ให้พ้นสายตา และต้องดูแลตลอดเวลานั่นแหละครับ ถ้าหากอยู่ห่างจากตัวล่วงเวลาดังกล่าว ติดอาบัติ ถุลปัจจัย ทางแก้ของผมคือ เอาสังฆาฏิ กับจีวรหนุนหัวนอนเลยครับ บาตรก็วางไว้บนเตียงนั่นแหละง่ายดี
- พระธรรมวินัยอนุญาตให้สงฆ์อยู่โดยปราศจากผ้าไตรฯ ได้หนึ่งวันกับหนึงคืน ครับ คือเผื่อซักตากนั่นเอง แต่ไม่ได้แปลว่าอนุญาตให้แก้ผ้าเปลือยนะครับ อันนั้นจะไปผิดอีกข้อนึงแทน
- ผ้าจีวรผืนใหญ่ๆ บางทีดูยากครับ ว่าด้านไหนเป็นด้านใน ด้านไหนเป็นด้านนอก โดยเฉพาะจีวรที่ยังไม่มีร่องรอยการใช้งาน ให้สังเกตที่ขอบผ้าเอาครับ ขอบผ้าด้านนึง จะมีการเย็บเป็นปมเชือกเอาไว้เป็นดุมไว้ติดจีวรให้ชายผ้าไม่ปลิวตามลมไปมา ด้านที่มีปมแบบนั้น ด้านนั้นคือด้านในครับ ส่วนที่ดูว่าส่วนไหนอยู่ด้านบน หรือด้านล่าง ให้ดูที่ด้านที่มีปมอยู่ช่วงกลางผ้า ปมคู่กลางคู่นั้น เอาไว้ติดช่วยยึดผ้าไว้หัวไหล่ เพื่อให้ห่มจีวรได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
- ส่วนใหญ่ผ้าไตรฯ วัดมักจัดให้อย่างละผืน แต่จะมี สบง ที่อาจจัดไว้ให้สองผืนสองแบบ คือแบบเย็บเป็นตาช่อง ซึ่งผ้าจะหนากว่า เอาไว้นุ่งเวลาออกไปนอกวัด ส่วนอีกแบบจะเป็นผ้าเรียบๆ ชั้นเดียว ผืนนี้ไว้นุ่งอาบน้ำ หรือใช้นุ่งอยู่ภายในวัดครับ
- ผ้าจีวรส่วนใหญ่ จะทำด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้าโทเล ซึ่งแห้งง่ายมาก ถ้าแดดดี หรือลมโกรก ซักตากก็แห้งภายในชั่วโมงเดียวครับ ผืนเบ้อเร่อแบบนั้นนั่นแหละ ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างว่า ซักไม่แห้ง ยกเว้นไปซักเอาตอนฝนตกทั้งวัน แต่ถ้าทำยังงั้นจริงๆ คงไม่ใช่แค่โง่ครับ ต้องบ้าเอาการ
- ปกติเครื่องนุ่งสบงจะมีสายประคดมาให้ ถ้าไม่มีอะไรรัดเอวจริงๆ เชือกฟางอะไรซักเส้นก็ได้ครับมารัดคาดเอวไว้เถอะ อย่าโชว์ทำนุ่งแบบโสร่งนะครับ ผ้ามันเบามาก ลมพัดแรงๆ เดี๋ยวปลิวตามเก็บไม่ทันเนี่ย รู้ถึงไหน อายถึงนั่นจริงๆ นะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น